การปฏิรูปการศึกษาหนึ่งในประเด็นที่หลายคนหยิบมาวิพากษ์วิจารณ์นั่นคือความแตกต่างระบบการศึกษาของไทย กับระบบการศึกษาของต่างประเทศ ที่มีการหยิบมาเปรียบเทียบกันหลายครั้งแล้ว เราก็ขอเป็นอีกเสียงหนึ่งในการขอเป็นตัวกลางในการเปรียบเทียบระหว่างการศึกษาของไทยกับ การศึกษาของต่างประเทศ
วิธีการเรียนรู้
เรื่องหนึ่งที่หลายคนกำลังอยากจะให้การศึกษาไทยเปลี่ยนนั่นคือ เรื่องวิธีการเรียนรู้ หากเป็นไทยเรามักจะเป็นการเรียนรู้แบบท่องจำ ฟังการบรรยาย แล้วนำความรู้ไปสอบ แต่หากเป็นต่างประเทศความรู้อาจจะเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่ส่วนสำคัญของพวกเค้าคือการคิดวิเคราะห์ เหตุและผล รวมไปถึงการประยุกต์เชื่อมโยงข้อมูลเหล่านั้นมากกว่า แน่นอนว่าการเรียนแบบของต่างประเทศนั้นทำให้เกิดการคิดอย่างเป็นตรรกะได้มากกว่า ซึ่งเรื่องนี้ต้องบอกว่าต้องใช้เวลาเปลี่ยนพอสมควรเลย
การแต่งกาย
ประเด็นต่อมาเป็นเรื่องที่มีกระแสมาอยู่ตลอดนั่นคือ เรื่องของการแต่งกาย ทรงผม การแต่งตัว แน่นอนว่าบ้านเราการแต่งกายไปโรงเรียนจะต้องมีแบบแผนชัดเจน และที่สำคัญคือทรงผมต้องถูกระเบียบ ตัดภาพไปที่ฝั่งต่างประเทศการแต่งกายจะเป็นแบบเสรีภาพ ทุกคนจะแต่งอะไรก็ได้(แต่ต้องอยู่บนกาลเทศะของสถานที่) นั่นทำให้เด็กไทยกว่าครึ่งประเทศมีความคิดอยากจะมีเสรีภาพแบบนั้นบ้าง เอาเป็นว่าเรื่องนี้หากไทยเรามีแนวคิดเลิกมองข้ามคนที่ภายนอกแล้วค่อยมาว่ากันใหม่นะ
ขนาดของห้องเรียน
สิ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดระหว่างการศึกษาไทยกับการศึกษาต่างประเทศ เราขอเปรียบเทียบให้เห็นถึงขนาดของห้องเรียนบ้านเราหากเป็นมัธยมของรัฐชื่อดังนี่ต้องบอกว่าห้องละ 40 ขึ้นไปเป็นเรื่องปกติ แต่หากเป็นต่างประเทศจะมีการกำหนดอย่างชัดเจนว่าจะมีจำนวนเท่าไร อย่างมากก็ไม่เกิน 25 คน ซึ่งจำนวนที่แตกต่างกันนี่แหละจะส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียน การดูแลอย่างทั่วถึงด้วย แต่ก็ต้องเข้าใจว่าเราเองก็มีข้อจำกัดของงบประมาณของห้องเรียนด้วย
สิทธิเสรีภาพ
การเรียนการสอนแบบไทยๆเราต้องบอกว่า คำว่า บังคับ เป็นสิ่งที่จำกัดเด็กเรามากจริงๆ เรื่องนั้นก็ต้องบังคับให้เป็นอย่างนี้ เรื่องนี้ก็ต้องบังคับให้ทำอย่างนั้น ซึ่งแตกต่างจากการศึกษาในต่างประเทศที่จะมีการบังคับน้อยกว่า ทุกคนมีสิทธิ์เลือกที่จะทำหรือไม่ทำกิจกรรมที่กำหนดให้ได้ เรื่องสิทธิเสรีภาพนี้เด็กๆหลายคนอยากจะได้ซะเหลือเกิน แน่นอนว่าการเปิดเสรีภาพแบบนี้มันต้องมาพร้อมกับการบังคับการใช้กฏที่เข้มงวด ไม่งั้นการปล่อยเสรีภาพมากเกินไปมันจะกลายเป็นการส่งเข้ารกเข้าพงไปได้
การศึกษาของไทย กับของต่างประเทศ มีความแตกต่างกันซึ่งก็เกิดจากบริบท สภาพแวดล้อม สังคมที่แตกต่างกัน การเปลี่ยนแปลงการศึกษาของไทยเป็นเรื่องที่จำเป็นเพื่อตอบสนองโลกในยุคต่อไป แต่การเปลี่ยนแปลงก็ต้องอยู่บนพื้นฐานค่อยๆเปลี่ยนจะได้ผลที่ยั่งยืนมากกว่า การเปลี่ยนแบบปุ๊บปับ